วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประวัติ วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ
ในปี พ.ศ. 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปี พ.ศ. 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ “วัดไตรมิตรวิทยาราม” ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณวัด และเป็นวัดที่มีสมเด็จพระราชาคณะ 2รูป และเจ้าคณะใหญ่หน 2หนคือ 1.) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ป.ธ.9 เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก 2.) สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ป.ธ.6 เจ้าคณะใหญ่หนกลาง
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)
ในอดีตสถานที่ตั้งของ วัดไตรมิตรวิทยาราม เคยเป็นดินแดนราบลุ่ม มีน้ำขังซึ่งพบได้ทั่วไป หากแต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมด ให้มีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วทั้งภายในบริเวณวัด ทำให้มีความแข็งแรงและหมดปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังอีกต่อไป
‘วัดไตรมิตรวิทยาราม’ เป็นวัดที่มีอายุยืนยายมาแล้ว หากแต่สร้างในสมัยใดไม่ทราบ ในอดีตมีชื่อว่า ‘วัดสามจีนใต้’ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมที วัดสามจีน มีทั้งหมด 3 วัด ได้แก่…วัดสามจีนบริเวณคลองบางอ้อ, วัดสามจีนตรงข้ามกับเทเวศร์ และวัดสามจีนเหนือ แต่บางคนแย้งว่าแท้จริงแล้วอยู่ที่บางขุนพรหม และอยู่ที่นนทบุรี โดยวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนวัดสามจีนใต้ นั่นก็คือ วัดไตรมิตรวิทยาราม นั่นเอง ส่วนความเป็นมาของชื่อ ‘วัดสามจีน’ ก็มาจากเหตุผลว่า ในอดีตมีชาวจีน 3 คน ได้ช่วยกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาด้วยความแข็งขัน จึงได้ชื่อว่า ‘วัดสามจีน’ นั่นเอง โดยวัดไตรมิตรก่อนจะทำการบูรณะปรับปรุง ตอนยังมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ สภาพทั่วไปล้วนเต็มไปด้วยความสกปรก ไม่น่ามอง ทำให้ท่านเจ้าอาวาสจึงขอให้นายสนิท ผู้จัดการรวมทั้งคณะกรรมการ มาช่วยดูแลสถานที่ให้วัดนี้เกิดความสะอาดสะอ้านกว่าเดิมเสียหน่อย นายสนิท เทวินทรภักดี จึงจัดการดำเนินให้อย่างทันที จนพื้นที่บริเวณนั้นมีความสะอาดน่ามองมากยิ่งขึ้น
ต่อมาหลังการก่อสร้างกุฎิสงฆ์ ก็ได้มีการวางผังการก่อสร้างให้กุฎิอยู่เรียงเป็นแถวเป็นแนวไม่สลับสับสนปนเป สร้างให้มีจำนวนห้องอยู่อาศัยอย่างพอเพียง ไม่ว่าจะทั้งพระภิกษุ, สามเณร หรือศิษย์วัด รวมทั้งจัดให้มีห้องน้ำ, ห้องสุขา พร้อมต่อความต้องการ สุดท้ายได้วางกุฎิให้เพียงพอต่อพระภิกษุ ประมาณ 70 – 80 รูปเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2480 จึงได้มีการสร้างกุฎิคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น จำนวน 14 หลัง ขึ้นแทนกุฎิเก่า ซึ่งได้ทำการรื้อถอนไปแล้ว นอกจากนี้ทางด้าน ศาลาการเปรียญของวัดที่เดิมเป็นศาลาไม้ ก็มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก คณะกรรมการก็ได้จัดการรื้อถอนแล้วได้สร้างศาลาการเปรียญใหม่ขึ้นมา โดยเป็นศาลาคอนกรีต 2 ชั้น ส่วนอาคารเดิมที่ใช้เป็นโรงเรียนสอนบาลีนักธรรมนั้น มีสภาพเก่าคร่ำคร่า ก็ได้รื้อถอนออก พร้อมสร้างใหม่เป็นตึกคอนกรีต 2 ชั้นขึ้นแทน เพื่อใช้รองรับนักเรียนบาลี นักธรรมรุ่นใหม่ต่อไป ส่วนเตาเผาศพก็รื้อออก สร้างเป็นเตาใหม่อันมีคุณภาพกว่าเดิมขึ้นมา ในปัจจุบันนี้วัดไตรมิตรเป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังมีการก่อสร้างโรงเรียนวัดไตรมิตรขึ้นมาอีกด้วย
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประวัติ ปูชนียวัตถุ
พระพุทธรูป
ซ้าย: พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประวัติ
ขวา: พระสุโขทัยไตรมิตร พระประธานในพระวิหารหลวง
พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อวัดสามจีน” มีประชาชนมาบนบานกันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก “หลวงพ่อโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เคยได้ทำพระเครื่องแจกครั้งหนึ่ง ได้ทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณสร้างด้วยเนื้อชิน เรียกชื่อว่า หลวงพ่อโตวัดสามจีน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่งไปว่าศักดิ์สิทธินัก ปัจจุบันนี้หายากแล้ว
พระสุโขทัยไตรมิตร
สิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
ข้อมูลสถานที่
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นวัดที่อยู่ในย่านเยาวราช ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง มีความสวยงามทั้งด้านสถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่ควรค่าแก่มาเยี่ยมชม กราบไหว้
ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
ลักษณะเด่น
ในพระวิหารของวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งถือเป็น“พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ระหว่างปี พ.ศ. 1820 – 1860 เดิมเป็นพระพุทธรูปที่ถูกปูนปั้นห่อหุ้มไว้ ประดิษฐานอยู่ที่ วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย และถูกอันเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโชตินาราม (วัดพระยาไกร) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาวัดนี้ร้าง จึงได้มีการอันเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เพิข้างพระเจดีย์ของวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อปี พ.ศ. 2478 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2498 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระวิหาร จากการเคลื่อนย้ายครั้งนี้ ทำให้หินปูนที่พอกองคืพระไว้กะเทาะออก จึงได้ทราบว่าองค์พระที่อยู่ข้างในมีเนื้อทองคำ
วันเวลาทำการ
- วันจันทร์ 08:00 น. – 17:00 น.
- วันอังคาร 08:00 น. – 17:00 น.
- วันพุธ 08:00 น. – 17:00 น.
- วันพฤหัสบดี 08:00 น. – 17:00 น.
- วันศุกร์ 08:00 น. – 17:00 น.
- วันเสาร์ 08:00 น. – 17:00 น.
- วันอาทิตย์ 08:00 น. – 17:00 น. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประวัติ