ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ ตู้ไปรษณีย์ เป็นตู้สำหรับให้ประชาชนนำจดหมายซึ่งติดแสตมป์ค่าส่งแล้ว มาหยอดเข้าไปในตู้ และจะมีบุรุษไปรษณีย์มารวบรวมจดหมายตามเวลาที่กำหนด เพื่อส่งเข้าระบบไปรษณีย์ต่อไป มีการนำมาใช้ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) คิดเป็นเวลา 15 ปีนับจากการเปิดบริการไปรษณีย์โดยใช้แสตมป์
ตู้ไปรษณีย์มีได้หลายรูปแบบ เช่น แบบตั้งกับพื้น แบบติดกับกำแพง มีสีสันแตกต่างกันออกไปขึ้นกับประเทศ ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษจะใช้สีแดงและดำเป็นหลัก สหรัฐอเมริกาใช้สีฟ้า ส่วนประเทศไทยซึ่งเริ่มมีตู้ไปรษณีย์พร้อมกับบริการไปรษณีย์นั้นก็ใช้สีแดงและดำ เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งริเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนได้รับอิทธิพลจากระบบของอังกฤษเป็นหลัก
เกร็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับตู้ไปรษณีย์ ตู้ไปรษณีย์ยักษ์
- ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ ตู้ไปรษณีย์ถังไม้ของหมู่เกาะกาลาปาโกส เป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีประวัติมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เกาะนี้เป็นเส้นทางผ่านของเรือ คนที่ผ่านมาสามารถหย่อนจดหมายลงในถังใบนี้โดยไม่ต้องติดแสตมป์ และค้นหาดูว่าในถังมีจดหมายของคนอื่นหรือไม่ที่จ่าหน้าถึงสถานที่ที่ตัวเองจะเดินทางไป ถ้ามีก็จะนำจดหมายดังกล่าวไปส่งด้วยตัวเอง
- อดีตตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย (ซึ่งอดีตก็เคยเป็นที่สุดในโลก) ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกา ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีส่วนฐานและส่วนตู้ ฐานมีความสูง 1.30 เมตร เส้นรอบวง 1.60 เมตร ส่วนตู้สูง 2.90 เมตร เส้นรอบวง 1.40 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2467 ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าในบริเวณเดียวกัน ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้
- ตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น ตู้ไปรษณีย์ของประเทศแคนาดา มีความสูงถึง 17 ฟุต (5.18 เมตร) ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Canada Place
- ประเทศไทยมีตู้ไปรษณีย์ประมาณ 36,756 ตู้ (ข้อมูลปีพ.ศ. 2548)
- ปัจจุบันสามารถดูตู้ไปรษณีย์แบบต่าง ๆ ของไทยในอดีต (สร้างจำลองขึ้นใหม่) ได้ที่บริเวณสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ด้านหลัง ปณจ สามเสนใน ข้างสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย
ตู้ไปรษณีย์แบบต่าง ๆ ของไทย
ภาพด้านขวามือเป็น ชีทที่ระลึก ของแสตมป์ชุด งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ พ.ศ. 2532 ซึ่งภาพบนแสตมป์ แสดงถึงวิวัฒนาการตู้ไปรษณีย์ และ ที่ทำการไปรษณีย์ ของไทยจากปัจจุบันย้อนหลังไปถึงสมัยแรกเริ่ม มีรายละเอียดตามราคาบนดวงแสตมป์ดังนี้
- 2 บาท ภาพตู้ไปรษณีย์ในสมัยปัจจุบัน เริ่มใช้ครั้งแรกปี พ.ศ. 2516
- 3 บาท ภาพตู้ไปรษณีย์ที่อยู่ตามที่ทำการไปรษณีย์ขนาดเล็กในต่างจังหวัด เริ่มใช้ พ.ศ. 2496
- 4 บาท ภาพตู้ไปรษณีย์ที่อยู่ตามที่ทำการไปรษณีย์ขนาดใหญ่ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2469
- 5 บาท ภาพตู้ไปรษณีย์ที่ใช้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2454 เป็นตู้ที่สั่งทำจากประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ ด้านหลังคือ ที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก
- 6 บาท ภาพตู้ไปรษณีย์ที่ประเทศเยอรมนีส่งมาให้เป็นของขวัญเนื่องในโอกาสที่เปิดให้บริการไปรษณีย์ในปี พ.ศ. 2426 ด้านหลังคือ ไปรษณียาคาร อาคารที่ทำการไปรษณีย์หลังแรกของไทย
ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่ที่สุดในโลก
ตู้ไปรษณีย์ อาจเป็นสิ่งที่คุ้นตา กับชาวไทยเรา แล้วตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดความสูงกว่า 3 เมตร และมีเส้นรอบวงเกือบครึ่งเมตร
ตู้ไปรษณีย์แห่งนี้ ตั้งอยู่ ณ มุมถนนสุขยางค์ บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาตั้งแต่ปี 2482 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีเส้นรอบวงของตัวตู้ประมาณ 140 ซม. ตู้มีความสูงถึง 290 ซม. นับจากฐานขึ้นไป รวมความสูงทั้งหมดประมาณ 320 ซม. อายุร่วม 80 ปี ในอดีตการเดินทางและการติดต่อสื่อสารระหว่างอำเภอเบตงกับอำเภออื่น ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก การติดต่อสื่อสารด้วยจดหมาย จึงสะดวกที่สุด โดยนายสงวน จิระจินดา นายกเทศมนตรีอำเภอเบตงในขณะนั้นเคยเป็นนายไปรษณีย์มาก่อน จึงได้จัดสร้างตู้ไปรษณีย์นี้ไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์การติดต่อสื่อสารของอำเภอเบตง และยังได้ติดตั้งวิทยุกระจายเสียงไว้ในส่วนบนของตู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังข่าวสารจากทางราชการด้วยและปัจจุบันตู้ไปรษณีย์ใบนี้ ก็ยังใช้งานอยู่พร้อมบริการรับจดหมายเหมือนตู้ไปรษณีย์ทั่ว ๆ ไป และเพื่อความเป็นที่หนึ่งเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์แห่งการสื่อสารของอำเภอเบตง เทศบาลเมืองเบตงจึงได้จำลองตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 3.5 เท่า ตั้งอยู่ในบริเวณสวนมหาดไทย ศาลาประชาคม
นอกจากนี้บริเวณตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังติดกับวงเวียนหอนาฬิกา ซึ่งตั้งตะหง่านอยู่กลางเมือง ซึ่งหอนาฬิกาเมืองเบตง สร้างด้วยหินอ่อนจากจังหวัดยะลา เสน่ห์ที่คู่หอนาฬิกาคือ นกนางแอ่นนับพันตัวที่เกาะสายไฟบริเวณหอนาฬิกา ซึ่งมีจำนวนมากช่วงเดือนกันยายนถึงมีนาคม เพราะนกนางแอ่นเหล่านี้บินหนีความหนาวเย็นมาจากไซบีเรีย เพื่อมาอิงแอบพักอาศัยที่เมืองเบตง แม้จะดูแปลกตาและ มหัศจรรย์แต่ก็มีความน่ารัก และเป็นความพิเศษอีกรูปแบบหนึ่งของเมืองเบตงที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง มีเรื่องเล่าว่าหากท่านโดนมูลของนกนางแอ่นตกใส่ในบริเวณนี้เข้า ท่านจะต้องได้กลับมาเยือนเมืองเบตงอีกแน่นอน